สิ่งแรกที่ควรรู้ก่อนจะเริ่มทำคอนเทนต์วิดีโอบน Youtube หรือทำ Filmmaker คือเรื่องเกี่ยวกับมุมกล้อง ว่าควรใช้มุมกล้องแบบไหน เพื่อให้สามารถสื่อสารให้คนดูเข้าใจ เพราะแต่ละมุมก็ให้อารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกัน หากเลือกใช้มุมกล้องที่ถูกต้องก็จะช่วยให้เราสื่อสารไปยังคนดูได้อย่างชัดเจน ลองมาดูกันว่า 7 มุมกล้องถ่ายวิดีโอที่มือใหม่ควรรู้ มีอะไรบ้าง
1.มุมกล้องระยะกลาง (Medium shot)
มุมกล้องระยะกลาง มุมกล้องที่จะเข้าใกล้ตัวแบบ และวัตถุ จะเป็นช่วงกลางจนถึงข้างบนสุด หรือถ้าเป็นตัวแบบ ก็ถ่ายตั้งแต่ระดับเอวขึ้นไป เพื่อให้เห็นการแสดงออกของสีหน้าได้อย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ถ่ายภาพการสนทนาของสองคน เพื่อให้คนดูสังเกตและวิเคราะห์พฤติกรรมของคู่สนทนาได้
2.มุมกล้องระยะใกล้ (Close-up)
มุมกล้องระยะใกล้จะโฟกัสส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวแบบหรือวัตถุในระยะใกล้ เกือบเต็มทั้งเฟรม เช่น เห็นตั้งแต่ หัว-คอ เพื่อแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของตัวแบบได้อย่างชัดเจน และกระแทกอารมณ์ของผู้ชมมากยิ่งขึ้น จากสีหน้ารายละเอียดของตัวแบบอย่างชัดเจนมากกว่าขนาดภาพอื่น ๆ หรือถ้าเป็นสิ่งของก็จะเป็นการเจาะจงการให้ความสำคัญกับสิ่งๆ นั้นโดยเฉพาะ
3.มุมกล้องระยะใกล้มาก (Extreme close-up)
มุมกล้องระยะใกล้มาก จะโฟกัสที่วัตถุ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งจะทำให้เราเห็นรายละเอียดของภาพได้อย่างใกล้ชิดครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น ดวงตาที่เหม่อลอย แสดงให้เห็นว่าตัวละครกำลังรู้สึก เคว้งคว้างและว่างเปล่า เป็นต้น
4.มุมกล้องระยะไกลมาก (Extreme long shot)
มุมกล้องระยะไกลมาก จะเป็นมุมกล้องที่เห็นภาพกว้าง ครอบคลุมพื้นที่หรือฉาก เป็นมุมมองที่ไกลที่สุดของหมวดภาพเลย มักจะใช้ซีนเปิดหรือปิดเรื่อง ว่าพื้นที่จะเล่าอยู่ที่ไหน เช่น ทะเล ภูเขา เมือง เป็นต้น เพื่อให้คนดูเข้าใจบริบทว่าตัวแบบอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน หรือตัวแบบกำลังทำอะไรอยู่
5.มุมกล้องระยะไกล (Long shot)
มุมกล้องระยะไกล เป็นภาพที่ไกล แต่จะไม่ไกลเท่ากับมุมไกลมาก เพราะจะเป็นมุมมองที่โฟกัสตัวแบบและวัตถุแบบเต็มตัวตั้งแต่เท้าไปจนถึงหัว เพื่อจะให้ได้เห็นว่าสิ่งที่เราโฟกัสอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน การแสดงท่าทางของตัวแบบ
6.มุมกล้องระดับต่ำ (Low angle)
มุมกล้องจะเป็นมุมมองจากมุมต่ำ จะถือว่าเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่าระดับสายตา ซึ่งมุมนี้ใช้ถ่ายจากด้านล่างของตัวแบบ หรืออาจจะวางระนาบเดียวกันกับพื้น หรือจะถ่ายขึ้นเป็นมุมเสยเลยก็ได้ ทำให้ตัวแบบดูใหญ่ขึ้น ทรงพลังมากขึ้น มีความมั่นใจ
7.มุมกล้องระยะสูง (High angle)
มุมกล้องระยะสูง จะใช้ถ่ายจากมุมบนของตัวแบบ วัตถุ มุมนี้จะไม่ได้โฟกัสที่ตัวแบบหรือวัตถุมากนัก แต่จะนำสายตาคนดูไปด้านหลัง ทำให้ตัวแบบดูเล็กลง มักใช้เพื่อสร้างความรู้สึกอ่อนแอหรือเปราะบาง นอกจากนี้การจับภาพจากมุมสูงยังทำเพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานที่ได้ด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญอย่าลืมใช้งานขาตั้งกล้อง เพราะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้กล้องของคุณนิ่งและจับภาพได้อย่างราบรื่น แม้ว่าการใช้งานขาตั้งกล้องอาจจะต้องใช้เวลาและความพยายามเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อาจสร้างความแตกต่างได้อย่างมากในคุณภาพของฟุตเทจของคุณ หากใช้ขาตั้งกล้องอย่างมีประสิทธิภาพ คุณจะได้ถ่ายวิดีโอและภาพถ่ายได้นิ่งและราบรื่นยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้งานวิดีโอของคุณดูเป็นมืออาชีพนั่นเอง